1. โบราณสถานพงตึก สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณสมัยทวารวดี และได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบคุปตะ ชาวเมืองนับถือศาสนาพุทธและพราหมณ์ มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 11–12 ทั้งนี้เนื่องจากกรมศิลปากรได้ขุดพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดีเป็นจำนวนมากที่พงตึกเมื่อปี พ.ศ. 2470 เช่น ตะเกียงทองสำริดโรมัน พระพิมพ์ดินเผา พระนารายณ์สลักจากศิลา พระพุทธรูป ฯลฯ และต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ดร.เวลส์ ผู้แทนสมาคมค้นคว้าวัตถุโบราณจากประเทศอินเดีย ได้เดินทางมาสำรวจและขุดค้นโบราณวัตถุเพิ่มเติมที่พงตึกและยืนยันว่าสถานที่แห่งนี้เคยเป็นเมืองโบราณที่เจริญรุ่งเรืองมากเมื่อสมัยพันปีมาแล้ว ปัจจุบันโบราณวัตถุบางส่วนที่ขุดค้นนำไปเก็บไว้ที่วัดดงสัก บางส่วนอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่กรุงเทพฯ
การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปทางใต้ประมาณ 37 กิโลเมตร หากมาจากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข 323 กิโลเมตรที่ 92–93 จะมีป้ายบอกทางเข้าซ้ายมือไปโบราณสถานพงตึก เมื่อข้ามสะพานจันทรุเบกษา จะผ่านวัดดงสักซึ่งอยู่ด้านซ้ายมือ จากนั้นให้ตรงไปจนผ่านป้อมตำรวจพงตึกซึ่งอยู่ด้านขวา โบราณสถานพงตึกจะอยู่ถัดป้อมตำรวจพงตึกไปไม่ไกลนัก
2.วนอุทยานพระแท่นดงรัง อีกหนึ่งจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี โดยวนอุทยานนั้นอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติพระแท่นดงรัง มีเนื้อที่ประมาณ 1,344 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2525 โดยลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีเนินเขาขนาดเล็ก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 0-20 เมตร พื้นที่โดยรอบเป็นที่นาและเกษตรกรรม สภาพภูมิอากาศในพื้นที่วนอุทยานฯ แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ปริมาณฝนน้อย ประมาณ 300-500 มิลลิเมตร ฤดูหนาว อากาศไม่หนาวจัดและมีระยะเวลาในช่วงสั้นๆ ฤดูร้อน อากาศร้อน อุณหภูมิสูงสุด 38 องศาเซลเซียส พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ มีพันธุ์ไม้หลากหลายประมาณ100 ชนิด กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่รัง มะค่าแต้ อุโลก ยอป่า ยอเถื่อน กระโดน เต็ง ตะแบก พืชสมุนไพร เป็นต้น สัตว์ป่าที่พบได้แก่ แย้ แมลงและนกชนิดต่างๆป่าพระแท่นดงรัง ป่าพระแท่นดงรังเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นผืนป่าแห่งเดียวและแห่งสุดท้ายในอำเภอท่ามะกาที่อยู่ใกล้แหล่งชุมชน การคมนาคมสะดวก ป่าพระแท่นดงรังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวรรณคดี มีเนินเขาที่สำคัญ 2 แห่ง แห่งแรกเรียกว่าเขาถวายพระเพลิง ยอดสูง 55 เมตร มีมณฑป 12 เหลี่ยม ครอบรอยพระพุทธบาทจำลองไว้ภายใน แห่งที่สองมีลักษณะเป็นแท่นหินรูปสี่เหลี่ยมหน้าลาด ลักษณะคล้ายแท่นหรือเตียงนอน การเดินทาง รถยนต์ สามารถเดินทางเข้าถึงบริเวณที่ทำการวนอุทยานฯโดยรถยนต์ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3081ตัดผ่านกลางวนอุทยาน ระยะทางห่างจากตลาดท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 9 กิโลเมตร
3. อุทยานมัจฉาวังสังกะวาส อยู่ในบริเวณวัดหวายเหนียว ตำบลหวายเหนียว อุทยานแห่งนี้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป ซึ่งชาวบ้านหรือนักท่องเที่ยว นิยมมาให้อาหารปลา เวลากลางวันจะพบปลาตะเพียน ในเวลาหนึ่งทุ่มเป็นต้นไปจึงจะพบปลาสังกะวาส ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยาก นอกจากนี้ภายในวัดหวายเหนียวยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเปิดให้ชม ตั้งแต่เวลา 08.00 - 18.00 น. สำหรับการเดินทาง หากมาจากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 323 กิโลเมตรที่ 92-93 เข้าทางเดียวกับโบราณสถานพงตึก เมื่อลงจากสะพานจันทรุเบกษา เลี้ยวขวาตรงไปตามถนนเลียบแม่น้ำแม่กลองประมาณ 3 กิโลเมตร
4.วัดตะคร้ำเอน อยู่ริมเส้นทางหลวงหมายเลข 3081 ( ท่ามะกา - บ้านพระแท่นดงรัง ) ประมาณ ๗ กิโลเมตร จากแยกท่ามะกา หรือประมาณ 25 กิโลเมตร จากตัวเมืองกาญจนบุรี หากไปจากแยกท่ามะกา วัดตะคร้ำเอนจะอยู่ทางซ้ายเมือก่อนถึงทางโค้งเล็กน้อย สิ่งที่น่าสนใจของวัดตะคร้ำเอนคือ หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางมารวิชัยที่ชาวบ้านย่านนี้ให้ความเคารพนับถือกันว่ามีความศักดิ์มาก นักท่องเที่ยวอาจจะไม่รู้จัก แต่สำหรับคนท้องถิ่นแล้ว ในแต่ละวันจะมีชาวบ้านในภูมิภาคใกล้เคียงมาสักการะกันมาก นอกจากพระพุทธรูปหลวงพ่อดำที่ศักดิ์สิทธิ์แล้วยังมีวิหารที่มีความสวยงามเป็นอย่างมาก4.